ถามตอบ

ขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้าง ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

1 ยื่นแบบคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (แบบ ข๑.)

        เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นแบบคำขอ

  • แบบแปลนการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร จำนวน ๓ ชุด ขนาดกระดาษ A๓
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน ๑  ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน  ๑  ชุด
  • เอกสารสิทธิ์ในที่ดิน (โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน  นส.๓/นส.๓ ก)  จำนวน  ๑  ชุด

๒ ตรวจสอบแบบแปลน

๓ นัดตรวจสถานที่ที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร

๔ ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร

การขอจดทะเบียนพาณิชย์ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

ยื่นแบบคำขอจดทะเบียน (แบบ ทพ.) พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ ดังนี้

๑ กรณีผู้ประกอบกิจการพาณิชยกิจ ยื่นด้วยตนเองและเป็นเจ้าบ้าน

  • ทะเบียนบ้าน
  • แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป

๒ กรณีผู้ประกอบกิจการพาณิชยกิจ ยื่นด้วยตนเอง แต่ไม่ใช่เจ้าบ้าน

  • ทะเบียนบ้าน
  • แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
  • หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือ สำเนาสัญญาเช่าสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่

๓ กรณี มอบอำนาจยื่นแทนผู้ประกอบกิจการพาณิชยกิจ

  • เอกสารตามข้อ ๑ หรือ ๒
  • หนังสือมอบอำนาจ
  • สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ

ประเภทพาณิชยกิจ

๑ การขาย หรือให้เช่า แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวิดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง ให้ส่งสำเนาหนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองให้เป็นผู้จำหน่ายหรือให้เช่าสินค้าดังกล่าวจากเจ้าของลิขสิทธิ์ของสินค้าที่ขายหรือให้เช่าหรือสำเนาใบเสร็จรับเงินตามประมวลรัษฎากร หรือหลักฐานการซื้อขายจากต่างประเทศ

๒ การค้าอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี ต้องดำเนินการและให้ตรวจสอบและเรียกหลักฐานแสดงจำนวนเงินทุน โดยเชิญผู้ประกอบพาณิชยกิจมาให้ข้อเท็จจริงของแหล่งที่มาของเงินทุน หรือชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมแนบหลักฐานดังกล่าวแทนก็ได้

๓ โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ให้ส่งสำเนาใบอนุญาตค้างาช้าง

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติภาษีและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ จะเริ่มชำระเมื่อใด ?

การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓

๑ องค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ ได้ดำเนินการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเขต อบต.

            ๒ จัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

            ๓ ประกาศบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

            ๔ ให้ประชาชนตรวจสอบรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อขอแก้ไข

            ๕ องค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ ประกาศราคาประเมิน อัตราภาษีที่จัดเก็บ แจ้งการประเมินให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทราบ

            ๖ ผู้เสียภาษีชำระภาษีภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

การขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ ต้องดำเนินการอย่างไร ภายในวันที่เท่าไร ?

ผู้ที่มีอายุจะครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณถัดไป และมีภูมิลำเนาในเขตตำบลลาโละ สามารถลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังขีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี โดยมีเอกสารหลักฐาน ดังนี้

    ๑ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย พร้อมสำเนา

    ๒ ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนา

    ๓ สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมสำเนา

    ๔ หนังสือมอบอำนาจ กรณีไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ

บุคคลที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ?

ผู้มีสิทธิจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องมีคุณสมบัตรและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

        ๑ มีสัญชาติไทย

        ๒ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน

        ๓ มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ลงทะเบียน และยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

        ๔ ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่

๔.๑ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

๔.๒ ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

๔.๓ ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ

การขึ้นทะเบียนคนพิการ ต้องดำเนินการอย่างไร ?

คนพิการที่ได้จดทะเบียนคนพิการตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีภูมิลำเนาในเขตตำบลลาโละ สามารถลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยความพิการด้วยตนเองต่อองค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ ได้ตลอดเวลา โดยมีเอกสารหลักฐาน ดังนี้

    ๑ บัตรประจำตัวคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

    ๒ ทะเบียนบ้าน

    ๓ สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร

การขึ้นเด็กแรกเกิด ต้องดำเนินการอย่างไร ?

การยื่นคำร้องขอลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ให้ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ โดยเด็กแรกเกิดต้องพักอาศัยอยู่จริงในเขตตำบลลาโละ ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ ได้ตลอดเวลา โดยมีเอกสารหลักฐาน ดังนี้

        ๑ แบบคำร้องขอลงทะเบียน  (ดร.๐๑)

        ๒ แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.๐๒)

        ๓ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง

        ๔ สูติบัตรเด็กแรกเกิด

        ๕ สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ปกครอง

        ๖ สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก

หมายเหตุ  แนะนำให้ยื่นทันทีหลังคลอด เพราะสิทธิจะไม่ย้อนให้ถึงวันคลอด แต่จะย้อนให้ถึงเดือนที่ลงทะเบียนรับสิทธิ

เมื่อขึ้นทะเบียนเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ เรียบร้อยแล้ว จะได้รับเงินเมื่อไร ?

กรณีเด็กแรกเกิด

โครงการนี้ เป็นการบรูณาการการทำงานหลายภาคส่วน คือ

๑ กระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนตำบลลาโละ รับลงทะเบียน และประกาศ ๑๕ วัน พร้อมบันทึกข้อมูลลงในระบบ

๒ กระทรวงสาธารณสุข ติดตามพัฒนาการเด็กแรกเกิด

๓ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตรวจสอบคุณสมบัติและบันทึกข้อมูลให้สมบูรณ์ และประสานจัดส่งข้อมูลให้แก่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จ่ายเงิน

 กรณีผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจะได้รับเงินในเดือนถัดจากที่ผู้สูงอายุครบ ๖๐ ปี บริบูรณ์ เช่น นาย ก. เกิดวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๐๓ นาย ก. จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ เป็นต้น

กรณีคนพิการ

คนพิการจะได้รับเงินภายหลังลงทะเบียนในเดือนถัดไป เช่น นาย ก. ลงทะเบียนเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ นาย ก. จะได้รับเงินในเดือนถัดไป คือเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ เป็นต้น